ทันตกรรมเด็ก
ทันตกรรมสำหรับเด็ก
ฟลูออไรด์คืออะไร
ฟลูออไรด์เป็นแร่ธาตุชนิดหนึ่งที่มีประสิทธิภาพในการป้องกันฟันผุ พบได้ตามธรรมชาติ ทั้งในดิน หิน น้ำโดยเฉพาะน้ำบาดาล และในอาหาร เช่น ใบชา อาหารทะเล เนื้อสัตว์ ผัก ฟลูออไรด์มีผลในการป้องกันโรคฟันผุ ได้ 2 วิธี คือ
- การใช้ฟลูออไรด์สัมผัสกับผิวฟันโดยตรง ซึ่งสามารถทำได้โดยการแปรงฟันด้วยยาสีฟันฟลูออไรด์ การใช้ยาบ้วนปากฟลูออไรด์ การเคลือบฟลูออไรด์โดยทันตแพทย์ การขัดฟันด้วยสารฟลูออไรด์
- การรับประทานฟลูออไรด์เข้าไป เพื่อมุ่งผลให้ฟลูออไรด์เข้าไปในโครงสร้างของฟัน ขณะที่ฟันกำลังเจริญเติบโต ในรูปแบบของฟลูออไรด์ในน้ำดื่ม นมผสมฟลูออไรด์ ยาเม็ดฟลูออไรด์
วัยใดบ้างจำเป็นต้องได้รับฟลูออไรด์
การใช้ฟลูออไรด์ที่ให้ผลเฉพาะที่สามารถเริ่มใช้ได้ตั้งแต่ฟันน้ำนมซี่แรกขึ้น (เด็กอายุประมาณ 6 เดือน) ในรูปแบบของยาสีฟันผสมฟลูออไรด์ แนะนำให้ใช้ยาสีฟันผสมฟลูออไรด์ที่ความเข้มข้น 1000 ส่วนในล้านส่วน (ppm)
ข้อแนะนำในการใช้ฟลูออไรด์
สำหรับในเด็ก การเคลือบฟลูออไรด์สามารถเริ่มได้ตั้งแต่ฟันน้ำนมซี่แรกขึ้น แต่ควรปรึกษาทันตแพทย์เพื่อประเมินความเสี่ยงของการเกิดฟันผุ ซึ่งทันตแพทย์จะแนะนำวิธีการ รูปแบบและขนาดที่เหมาะสมเพื่อให้เกิดประสิทธิภาพสูงสุดในการป้องกันฟันผุ
การใช้ฟลูออไรด์เพียงอย่างเดียวไม่สามารถป้องกันฟันผุได้ ดังนั้น จึงจำเป็นต้องทำความสะอาดฟันโดยการแปรงฟันและใช้ไหมขัดฟันให้สะอาดอย่างถูกวิธี ปรับพฤติกรรมการบริโภคอาหาร ลดอาหารหวาน ลดอาหารระหว่างมื้อ รวมถึงไปพบทันตแพทย์เพื่อตรวจสุขภาพฟันอย่างสม่ำเสมอทุก 6 เดือน
การเคลือบหลุมและร่องฟัน
ได้รับการยอมรับว่าเป็นมาตรการที่ป้องกันฟันผุบนด้านบดเคี้ยวที่มีประสิทธิภาพสูงตราบ เท่าที่วัสดุเคลือบหลุมและร่องฟันยึดติดอยู่กับฟัน การเคลือบหลุมและร่องฟันสามารถป้องกันฟันผุบริเวณหลุมและร่องฟันได้ โดยทำให้หลุมและร่องฟันตื้นขึ้น และมีพื้นที่ผิวเรียบขึ้นไม่เป็นที่กักเก็บเชื้อจุลินทรีย์และอาหาร และทำให้การทำความสะอาดเป็นไปได้ง่ายขึ้น
- หากลูกมีฟันผุระยะแรกเริ่ม คุณหมอจะให้คำแนะนำในการรับประทานอาหารและการทำความสะอาดหรือ เคลือบหลุมร่องฟัน
- คุณหมอจะทำการอุดฟันหรือครอบฟันในฟันที่ผุถึงชั้นเนื้อฟัน
- แต่หากฟันผุทะลุเข้าไปถึงโพรงประสาทฟัน คุณหมอจะต้องรักษาด้วยการรักษารากฟัน หรือถอนฟันแทน
สำหรับกรณีที่ฟันผุยังไม่ได้ทำลายรากฟันและกระดูกเบ้าฟันไปมาก คุณหมอจะแนะนำให้เก็บรักษาฟันน้ำนมไว้ใช้งาน รอจนฟันแท้จะขึ้นมาแทนที่ การอุดฟันที่ผุลึกมาก การถอนฟัน หรือการรักษารากฟัน คุณหมอจะใช้ยาชา เพื่อไม่ให้เด็ก ๆ รู้สึกเจ็บปวดจนทนไม่ไหว
วิธีป้องกันไม่ให้ฟันน้ำนมผุ
- ฝึกให้เด็กทารกเข้านอนโดยไม่มีนิสัยติดขวดนม
- สอนให้เด็กใช้แก้วน้ำแทนขวดนมและฝึกดูดจากหลอด ตั้งแต่อายุ 6 – 12 เดือน และควรเลิกใช้ขวดนม เมื่ออายุ 1 ปี ไปแล้ว
- ฝึกนิสัยไม่ให้เด็กทานขนมหรืออาหารรสหวาน เพราะเป็นสาเหตุของฟันผุ
- ฝึกให้ลูกบ้วนปากหลังดื่มนม ขนม หลังรับประทานอาหารทุกครั้ง
- แปรงฟันให้ลูกด้วยยาสีฟันที่ผสมฟลูออไรด์ วันละ 2 ครั้ง เวลาเช้า – ก่อนนอน
- เมื่อลูกอายุ 4 ขวบ ฝึกให้ลูกแปรงฟันอย่างถูกวิธี และช่วยแปรงซ้ำเป็นประจำ
- พาลูกไปพบทันตแพทย์ เมื่ออายุ 1 ปี และตรวจฟันเป็นประจำทุก 6 เดือน
เครื่องมือกันช่องว่างระหว่างฟัน
เครื่องมือกันช่องว่างระหว่างฟัน ทำหน้าที่รักษาระยะห่างระหว่างฟันเอาไว้ไม่ให้ลดลงหรือหายไป เพื่อให้ฟันแท้ในตำแหน่งนั้น สามารถขึ้นได้ โดยมีทั้งที่ทำจากโลหะและอะคริลิก
หากไม่ใส่เครื่องมือกันช่องว่างระหว่างฟัน
- ฟันล้มเอียงมาทางช่องว่างนั้น ทำให้ฟันแท้ขึ้นผิด
- ตำแหน่งฟันซ้อนเกทำให้สูญเสียความสวยงาม
- มีนิสัยที่ผิดปกติ เช่น เอาลิ้นมาดุนช่องว่างที่เกิดขึ้น
- กระดูกเบ้าฟันหนาตัว มีผลให้ฟันแท้ขึ้นช้ากว่าปกติ