ทันตกรรมทั่วไป
การอุดฟัน(Dental Filling)
การทำทันตกรรมเพื่อรักษาฟันที่ถูกทำลายจากปัญหาเกี่ยวกับฟัน เช่น ฟันผุ ฟันแตก ฟันสึก ฟันกร่อน ฯลฯ ด้วยการใช้วัสดุสังเคราะห์ชนิดต่าง ๆ เติมเข้าไปในส่วนของฟันที่เสียหาย เพื่อป้องกันไม่ให้ฟันเกิดอาการผุ หรือเนื้อฟันถูกทำลายเพิ่มขึ้นนั่นเอง สำหรับวัสดุสังเคราะห์ที่ใช้ในการอุดฟันนั้นจะมีอยู่ด้วยกันทั้งหมด 2 แบบ ได้แก่ วัสดุสีโลหะ และ วัสดุอุดฟันสีเหมือนฟัน ซึ่งจะแตกต่างกันอย่างไร มีข้อดี-ข้อเสียอะไรที่ต้องพิจารณาก่อนจะเลือกว่า ควรใช้วัสดุแบบไหนดี
การอุดฟันด้วยวัสดุสีโลหะ เป็นการอุดฟันด้วยวัสดุอุดฟันที่เรียกว่าอมัลกัม (Amalgam) ทำมาจากการผสมกันของปรอท เงิน ดีบุก หรือโลหะ เวลาอุดฟันเสร็จแล้วจะเห็นตัววัสดุเป็นสีเงินหรือสีเทา ส่วนใหญ่จะใช้ในการอุดฟันกรามเเละฟันกรามน้อย เพราะมีความแข็งแรง ทนทานต่อแรงบดเคี้ยว และสีอาจจะไม่สวยเนียนไปกับสีฟัน
ข้อดี | ข้อเสีย |
---|---|
ราคาไม่แพง | มีสีที่ไม่เหมือนฟัน มองเห็นชัดว่าทำการอุดฟัน |
ทนทานต่อแรงบดเคี้ยวได้ดี | หลังอุดฟันต้องรอ 24 ชั่วโมงถึงจะใช้ฟันที่ทำการอุดในการบดเคี้ยวอาหารได้ |
แข็งแรงและทนทาน | มีส่วนผสมของปรอทและโลหะอื่นๆ ที่อาจจะเป็นพิษต่อร่างกายได้ |
การอุดฟันด้วยวัสดุสีเหมือนฟัน (Resin Composite Filling) คือ การอุดฟันวัสดุอุดฟันสีเหมือนธรรมชาติเป็นที่นิยมใช้ในปัจจุบันมากที่สุด ถูกพัฒนามาเพื่อให้ใช้อุดได้ทั้งฟันหน้าและฟันกราม หรือซี่ฟันที่สามารถมองเห็นได้ แต่วัสดุสีเหมือนฟันจะแข็งแรงไม่เท่ากับการอุดฟันด้วยวัสดุโลหะ และมีขั้นตอนในการทำที่ยุ่งยากกว่า
ข้อดี | ข้อเสีย |
---|---|
สีเหมือนกับฟันธรรมชาติ จึงเหมาะสำหรับใช้อุดฟันหน้าหรือ ฟันที่สามารถเห็นได้ชัด | มีความทนทานน้อยกว่าการอุดฟันด้วย วัสดุสีโลหะ และรับแรงบดเคี้ยวได้น้อยกว่า |
ไม่มีสารปรอท | ใช้เวลาในการอุดฟันนานกว่า |
ไม่ต้องรอครบ 24 ชั่วโมงก็สามารถใช้บดเคี้ยวได้เลย | สามารถติดสีจากอาหารและเครื่องดื่ม ที่บริโภค เช่น ชา, กาแฟ หรือจากการสูบบุหรี่ |
การอุดฟันมีประโยชน์อย่างไร
การอุดฟันด้วยวัสดุสีเหมือนฟันเป็นการรักษาฟันเพื่อความสวยงามแบบหนึ่งที่ทำได้ง่ายและ ราคาย่อมเยาที่สุด สารประกอบเรซินที่ใช้ในการอุดฟันสามารถปรับรูปร่าง และขัดเงาให้เหมือนกับฟันซี่ที่อยู่ใกล้กันได้ ส่วนใหญ่แล้ว การอุดฟันด้วยวัสดุสีเหมือนฟันมักใช้เป็นการรักษาเพื่อความสวยงาม โดยมีจุดประสงค์เพื่อปรับปรุงรูปลักษณ์ของฟันที่เปลี่ยนสีหรือบิ่นได้ดูดีขึ้น นอกจากนี้ยังใช้อุดช่องว่างระหว่างฟัน ทำให้ฟันดูยาวขึ้นหรือจะใช้เปลี่ยนรูปร่างหรือสีของฟันก็ได้ ในบางครั้งการอุดฟันด้วยวัสดุสีเหมือนฟันจะใช้แทน การอุดฟันด้วย อะมัลกัม หรือเพื่อปกป้องราก ฟันที่โผล่พ้นเหงือกเนื่องจากภาวะเหงือกร่น
ขั้นตอนการรักษาเป็นอย่างไร
- ทันตแพทย์จะเลือกสารประกอบเรซิน ที่ใกล้เคียงกับสีฟันมากที่สุดโดยใช้ชุดเลือกสีเป็นแนวทาง
- หลังจากเลือกสีได้แล้ว ทันตแพทย์จะกัดหรือขัดผิวของฟันออกเล็กน้อยเพื่อให้ผิวฟันหยาบขึ้น จากนั้นจึงเคลือบผิวฟันบาง ๆ ด้วยน้ำยาปรับสภาพฟันซึ่งจะช่วยให้วัสดุอุดฟันติดแน่นหนา
- เมื่อเตรียมฟันเสร็จแล้ว ทันตแพทย์จะทาเรซินสีเหมือนฟันที่มีลักษณะเหมือนปูนลงไปบนผิวฟัน จากนั้นจึงปรับรูปร่างและปรับผิวเรซินให้เรียบเนียน จนกระทั่งได้รูปร่างที่ต้องการ แล้วฉายแสงอัลตราไวโอเล็ตหรือเลเซอร์เพื่อทำให้แข็ง
- หลังจากวัสดุอุดฟันแข็งดีแล้ว ทันตแพทย์จะตกแต่งรูปร่างและขัดเงา
หินปูน หรือ คราบหินปูน (Dental Tartar)
เกิดจากคราบที่เกิดจากเชื้อแบคทีเรียที่รวมตัวกับโปรตีนหรือเศษอาหารที่หลงเหลืออยู่ตามส่วนต่าง ๆ ของฟัน จนกลายเป็นคราบจุลินทรีย์เกาะอยู่ที่ขอบฟันที่ติดกับเหงือกทับถมกันเป็นระยะเวลานาน จะมีลักษณะเป็นคราบแข็งคล้ายหินปูน และเกาะแน่นกับผิวฟันมากยิ่งขึ้น หากแปรงฟันไม่ทั่วถึงจะเกิดการสะสมซึ่งทำลายสุขภาพเหงือกและฟันของเราเสี่ยงที่จะเป็นโรคปริทันต์ เช่น
- โรคเหงือกอักเสบ เหงือกบวม มีเลือดออกหรือมีหนอง
- รากฟันอักเสบ
- มีกลิ่นปากที่รุนแรง
- สีฟันเหลือง
- เลือดออกง่ายขณะแปรงฟัน
- ฟันโยก
หากปล่อยไว้จะเกิดอาการรุนแรงที่สุดคือการที่กระดูกเบ้าฟันจะละลาย จนทำให้ฟันโยก และจำเป็นต้องถอนฟันออก เนื่องจากร่างกายไม่สามารถสร้างกระดูกเบ้าฟันให้กลับมาเหมือนเดิมได้อีก ซึ่งทั้งหมดนี้นอกจากส่งผลเสียต่อสุขภาพช่องปากและฟันแล้วยังส่งผลเสียต่อความมั่นใจ บุคลิกภาพและรอยยิ้มอีกด้วย
การดูแลหลังขูดหินปูน อาจมีอาการเจ็บที่เหงือกเล็กน้อย 1-2 วัน และอาจมีอาการเสียวฟันประมาณ 1 สัปดาห์ บางครั้งหากมีหินปูนสะสมอยู่หลังขูดหินปูนก็อาจจะทำให้รู้สึกเจ็บเวลาที่กดหรือมีเลือดออกได้ ซึ่งจะหายไปเองใน 1 วันแต่ถ้าหากมีเลือดออกและรู้สึกเจ็บติดต่อกันเป็นเวลานาน ควรรีบกลับมาพบทันตแพทย์เพื่อตรวจดูความผิดปกติอีกครั้งหนึ่ง