ศัลยกรรมช่องปาก

ศัลยกรรมช่องปากและแม็กซิลโลเฟเซียล

การถอนฟัน (The extraction of teeth)

คือการรักษาโดยการนำเอาฟันออกจากกระดูกเบ้าฟัน เนื่องมาจากเหตุผล ดังต่อไปนี้

  1. ฟันที่ผุลึกมากจนถึงชั้นโพรงประสาทฟัน และไม่สามารถรักษาและบูรณะฟันได้
  2. ฟันที่เป็นโรคปริทันต์อักเสบรุนแรง ไม่สามารถรักษาได้
  3. ฟันที่ได้รับอุบัติเหตุ ฟันแตก ฟันหักแบบที่ไม่สามารถรักษาหรือซ่อมแซมได้ หรือรากฟันหัก ไม่สามารถอุดคลองรากฟันได้
  4. ฟันที่มีสภาพของกระดูกรอบ ๆ รากฟัน เช่น ถุงน้ำ เนื้องอก กระดูกอักเสบ หรือกระดูกขากรรไกรตาย
  5. ฟันน้ำนมที่ไม่หลุดตามระยะเวลา ทำให้ฟันแท้ข้างใต้ขึ้นมาแทนที่ไม่ได้หรือฟันแท้ขึ้นผิดตำแหน่ง

  การถอนฟันเป็นการรักษาที่ทันตแพทย์จะวางแผนการรักษาเป็นวิธีสุดท้าย เพราะหากฟันยังสามารถรักษาด้วยการรักษาทันตกรรมอื่น ๆ ก็จะเลือกวิธีการรักษานั่นก่อน เพราะการถอนฟัน คือการสูญเสียฟันธรรมชาติไปอย่างถาวร และอาจสร้างปัญหากับฟันซี่ข้างเคียงให้เกิดการเคลื่อนตัวไปในทิศทางที่เปลี่ยนไปจากเดิมได้

ฟันคุด (Impacted tooth)

คือ ฟันกรามซี่สุดท้าย ที่ไม่สามารถขึ้นมาได้ตามปกติ เป็นฟันที่ฝังตัวอยู่ใต้เนื้อเยื่อของเหงือก และบริเวณกระดูกขากรรไกร ฟันคุดจะไม่สามารถมองเห็นได้ด้วยตาเปล่าหากตัวฟันไม่ได้โผล่พ้นขึ้นมาเหนือเหงือก จะต้องใช้การเอกซเรย์จึงจะสามารถเห็นได้ซึ่งจำเป็นต้องมีการถอน หรือผ่าออก โดยทันตแพทย์เฉพาะทางศัลยกรรมช่องปากและแม็กซิลโลเฟเซียล เพราะว่าอยู่ในลักษณะที่ไม่สามารถเกิดขึ้นได้ตามปกติ หรือไม่ได้อยู่ในแนวที่เดียวกับฟัน ส่วนมากฟันคุดจะเกิดขึ้นในช่วงวัยรุ่นตอนปลาย หรือช่วงอายุยี่สิบต้น ๆ หากปล่อยฟันคุดไว้จะมีความเสี่ยงต่อภาวะต่าง ๆ

  • เหงือกในบริเวณที่ปกคลุมฟันคุดอักเสบหรือมีการติดเชื้อ
  • เกิดฟันผุที่ฟันกรามซี่ข้างเคียง
  • สาเหตุของการเกิดโรคปริทันต์ (โรคเหงือก)
  • เกิดถุงน้ำบริเวณขากรรไกร – ซีสต์เนื้องอกรอบ ๆ ฟันคุด
  • มีอาการปวดเรื้อรังหรือรู้สึกไม่สบาย เนื่องจากแรงดันของฟันคุด
  • ฟันยื่น ฟันเก กระดูกรอบรากฟัน หรือรากฟันข้างเคียงถูกทำลาย จากแรงดันตัวของฟันคุดที่พยายามดันขึ้นมา
  • ส่งผลต่อการจัดเรียงฟัน ทำให้มีปัญหาเกี่ยวกับการจัดฟันได้ในตำแหน่งที่ไม่ดี หรือมีฟันหน้าซ้อนเก
  • เกิดความผิดปกติของเนื้อเยื่อหุ้มฟัน

ฟันเกิน (Supernumerary Tooth)  

โดยปกติทั่วไปมนุษย์จะมีฟันน้ำนมจำนวน 20 ซี่ และฟันแท้ 32 ซี่ หากมีจำนวนมากกว่านั้นจะเรียกว่า ฟันเกิน โดยฟันที่เกินมานั้นสามารถเกิดขึ้นได้ซี่เดียวหรือหลายซี่ ตำแหน่งเดียวหรือหลายตำแหน่งในขากรรไกร ส่วนใหญ่มักจะพบฟันเกินในขากรรไกรบนได้มากกว่าขากรรไกรล่าง

สาเหตุของภาวะฟันเกิน แม้จะยังไม่ทราบสาเหตุแน่ชัด แต่มีความเป็นไปได้จากปัจจัยหลายอย่าง ไม่ว่าจะเป็น

  • แถบบุผิวต้นกำเนิดฟันแบ่งตัวมากเกินไป
  • การแบ่งตัวของหน่อฟันผิดปกติ
  • สภาวะแวดล้อมและการถ่ายทอดทางพันธุกรรม

อันตรายจากภาวะฟันเกิน

  • ทำให้ฟันซี่อื่นไม่สามารถเคลื่อนที่ไปยังตำแหน่งที่ควรจะเป็น จนไปอยู่ในตำแหน่งที่ผิดแปลกไป เช่น ฟันไปอยู่บนเพดาน ฟันชี้ไปทางโพรงจมูก
  • เกิดการอักเสบ เป็นหนอง จนกลายเป็นซีสต์หรือเนื้องอก
  • เกิดปัญหาฟันอื่น ๆ ร่วมด้วย เช่น ปากแหว่งเพดานโหว่
  • ปวดแผลและมีเลือดออกมาก

ฟันฝัง (Embedded Tooth)

คือฟันที่ไม่สามารถขึ้นมาได้ตามปกติในช่องปาก มักจะฝังตัวอยู่บริเวณกระดูกขากรรไกร อาจส่งผลทำให้รากฟันซี่ข้างเคียงละลายตัวได้ ฟันฝังสามารถพบได้ทั้งฟันหน้า ฟันเขี้ยว และฟันซี่อื่น ๆ ลักษณะคล้ายฟันคุด แต่ฟันทั้งซี่จะฝังตัวอยู่ในขากรรไกร ไม่สามารถงอกขึ้นมาได้ การผ่าตัดจึงมีความซับซ้อนมากกว่า